Email This  Print This 

ข่าว

ชงขยายสุวรรณภูมิเฟส2

BackFeb 01, 2008

ทอท.เตรียมชงรัฐบาลใหม่ ขยายสุวรรณภูมิมูลค่ากว่า 6 หมื่นล้านบาท

พล.อ.ท.ชนะ อยู่สถาพร กรรมการ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย หรือ ทอท. กล่าวว่า ทอท.เตรียมที่จะเสนอ 2 โครงการเร่งด่วน เพื่อให้รัฐบาลใหม่พิจารณา โดยจะขออนุมัติการขยาย ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 และสร้างรันเวย์ที่ 3 และ 4 มูลค่ากว่า 6 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับการขยายตัวของปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ ทอท. ได้จัดทำแผนโครงการดังกล่าวไว้แล้ว และพร้อมที่จะดำเนินการทันทีที่รัฐบาลอนุมัติ

นอกจากนี้ จะเสนอขอปรับการใช้ประโยชน์ท่าอากาศยานดอนเมืองให้ เป็นโลว์คอสต์แอร์พอร์ตอย่างเต็มรูปแบบ คือให้บริการทั้งเส้นทางในประเทศ และต่างประเทศในภูมิภาค ทั้งนี้ ทอท. เชื่อว่าการเปิดใช้ท่าอากาศยานดอนเมืองเป็นโลว์คอสต์แอร์พอร์ต จะช่วยให้มีรายได้ เพิ่มมากขึ้น และทำให้การขาดทุนดังกล่าวหมดไป

สำหรับกรณีที่สายการบินไทยแอร์เอเชีย จะขอพื้นที่อาคารผู้โดยสาร 1 ของท่าอากาศยานดอนเมือง เป็นโลว์คอสต์เทอร์มินัลของสายการบินโดยตรงนั้น ทอท.จะเป็นผู้กำหนดพื้นที่ให้แก่ลูกค้าสายการบินใช้บริการ ว่าจะใช้พื้นที่ส่วนใดในการดำเนินกิจกรรมการบิน

พล.อ.ท.ชนะ กล่าวต่อว่า ในปีนี้มีแผนหารายได้เพิ่มจากกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผู้ถือหุ้น ทั้งแผนระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้น เช่น การเร่งรัดในการต่อสัญญาหรือทำสัญญาการเช่าพื้นที่ ร้านค้าต่างๆ ในทุกท่าอากาศยานของ ทอท.ประมาณ 84 สัญญา ระยะยาว เช่น การพัฒนาธุรกิจบนที่ดินแปลง 37 สนามบินสุวรรณภูมิพื้นที่กว่า 1.14 พันไร่ พัฒนากิจกรรมเชิงพาณิชย์ในอุโมงค์รถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ ฯลฯ

ด้านนายสุรธัส สุธรรมนัส ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานพัฒนาธุรกิจ) ทอท. กล่าวว่า ในเดือน พ.ย. 2550 ทอท.ได้เริ่มใช้กลยุทธ์การกำหนดราคาเป็นข้อกำหนดทางการตลาด โดยได้มีการลดค่าธรรมเนียมขึ้นลงอากาศยาน (Landing Charge) 30-95% ให้กับสายการบินในเงื่อนไขต่างๆ โดยคาดว่าโปรแกรมดังกล่าวจะกระตุ้นให้มีสายการบินและเที่ยวบินเพิ่มในสนามบินภูมิภาค 4 แห่ง ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย หาดใหญ่ และภูเก็ต ซึ่งจะทำให้มีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น เป็นผลให้ ทอท.มีรายได้ส่วนอื่นๆ เพิ่ม เช่น ค่าธรรมเนียมการใช้สนามบิน การหารายได้เพิ่มที่มีแผนขณะนี้คือ รายได้จากป้ายโฆษณากว่า 1 พันป้าย ประมาณ 200 ล้านบาทต่อปี จากการปรับปรุงลานจอดรถชั้น 6 เป็นสำนักงานสำหรับสายการบินพื้นที่ 2 หมื่นตารางเมตร จากกิจกรรมเชิงพาณิชย์ในอุโมงค์รถไฟ ซึ่งจะเจรจา กับ ร.ฟ.ท.เพื่อขอพื้นที่เพิ่มจากเดิมที่อยู่ 2 พันตารางเมตร

นอกจากนี้ การเจรจาเพิ่มรายได้จากบริษัท ผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น (DCAP) ที่ใช้พื้นที่ของ ทอท.นำไปทำให้เกิดประโยชน์ทางธุรกิจของตัวเอง เช่น ขายไฟฟ้าให้ กฟผ. ขายน้ำเย็นให้การบินไทย เป็นต้น การปรับปรุงพื้นที่ลานจอดระยะไกลใช้ประโยชน์เพิ่มเติม ส่วนที่จะเป็นฐานรายได้ที่มั่นคงในอนาคต คือการพัฒนาพื้นที่ 37 แปลง มูลค่าลงทุน 4.6 หมื่นล้านบาท จะมีการเสนอบอร์ดชุดใหม่พิจารณา และปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 2535 โดยเน้นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไทยรายใหญ่ร่วมทุนกับผู้บริหารสนามบินต่างประเทศที่มีประสบการณ์เฉพาะด้าน

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
วันศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551